แชร์

ซื้อถั่วย่อมได้ถั่ว

อัพเดทล่าสุด: 20 เม.ย. 2025
69 ผู้เข้าชม

              ผมมีความเชื่อเรื่องคุณภาพของสินค้าและบริการ แปรผันตามจำนวนเงินที่จ่ายให้กับเจ้าของสินค้าหรือผู้ให้บริการ   ครั้งหนึ่งเคยจ้างช่างฝีมือชาวบ้าน ราคาไม่แพง มาซ่อมท่อประปาแตกฉุกเฉิน  สิ่งที่เจอคือ ช่างมาไม่ตรงเวลา  เวลาเข้าซ่อมถูกเลื่อนไปเกือบชั่วโมง โดยไม่โทรแจ้ง ต้องโทรถาม  ช่างมาถึงพร้อมข้ออ้างมากมาย  เราก็ปฏิเสธไม่ได้  ขณะที่ซ่อมก็เอาเครื่องมือมาไม่ครบ  ต้องออกไปซื้ออุปกรณ์สำหรับซ่อม เช่นท่อน้ำ ข้อต่อ กาว .... งานที่ได้ก็จะหยาบๆ  เสร็จงานก็ไม่เคลียร์หรือทำความสะอาด เก็บกวาดพื้นที่ซ่อมให้ ก็ต้องทำใจ ...... ผิดกับงานซ่อมของบริษัทฯ ที่เป็นระบบมากกว่า เป็นมืออาชีพมากกว่า มีมาตรฐานการซ่อมที่ดีกว่า พนักงานสวมชุดฟอร์ม เครื่องมือครบ เก็บงานได้ดีกว่า  แน่ล่ะก็มันแพงกว่าย่อมต้องดีกว่า  ผมเรียกว่า "ซื้อถั่วย่อมได้ถั่ว"  (Buy Peanuts, Get Peanuts)   เรามักจะได้รับบริการ ที่สมกับค่าจ้างที่จ่ายไป  แต่หากได้รับมากกว่าสิ่งที่คาดหวังไว้ ก็ถือว่า เป็นโชคดี  และหากได้รับแย่กว่า หรือห่วยกว่าที่คาดหวัง  ก็ถือว่าโชคร้าย     สำนวน "ซื้อถั่ว ย่อมได้ถั่ว" ผมมักจะเปรียบเปรยเงินจำนวนน้อยกับถั่วลิสงว่า ถ้าเราจ่ายน้อยก็ย่อมได้รับในสิ่งที่น้อยตาม  เพื่อปลอบใจเวลาที่เราได้รับสิ่งที่ไม่ได้เกินความคาดหวัง กับเงินที่เราได้จ่ายไป ให้ทำใจ เหมือน เราซื้อถั่วลิสงก็ต้องได้รับถั่วลิสง  คงไม่ได้รับแมคคาเดเมีย,พิสตาชิโอ หรืออัลมอนด์   เพื่อเข้าใจ และยอมรับมัน    ไม่ต่างกับเวลาคนเลือกซื้อบ้านในทำเลที่ราคาแพง หรือส่งลูกเรียนในโรงเรียนที่ค่าเทอมแพง   เพราะเชื่อว่า จะได้รับสิ่งแวดล้อมที่ดี  คาดหวังว่าจะได้เพื่อนบ้านที่ดี   ลูกได้เรียนในระบบที่ดี มีเพื่อนดีๆ ได้สังคมดีๆ    จึงยอมจ่ายแพงเพื่อแลกกับการจะได้มา    เราจะได้รับสิ่งแวดล้อมตามที่เราตัดสินใจเลือกที่จะเป็นเสมอ   ทุกอย่างมีต้นทุน  เราพร้อมจะจ่ายแบบไหน ก็จะได้รับแบบนั้น (ซื้อถั่ว ย่อมได้ถั่ว)  เราสามารถซื้อสังคมที่เราอยากเป็นได้  ดังนั้นทุกคนจึงมุ่งที่จะทำงานหาเงิน  เพื่อซื้อความเป็นอยู่  ซื้อสังคม ซื้อความอิสระ ซื้อความปลอดภัย ซื้อการยอมรับ ....  เพื่อให้อยู่อย่างสบาย บนเส้นทางชีวิตที่แตกต่าง และความพยายามที่ต่างกัน            
              มีอีกสำนวนหนึ่งที่คล้ายกัน คือ "If you pay peanuts, you get monkeys"  เค้าเปรียบเทียบว่า ถ้าคุณจ่ายเงินน้อยแค่นี้ ก็เอาลิงไปทำงานแทนละกัน  ไม่ต้องเอาคนไปทำงานหรอก หรือ ถ้าจ่ายน้อยก็เอาผลงานคุณภาพลิงไปแทนละกัน   สำนวนนี้อาจใช้ไม่ได้กับบางคน  เพราะตอนผมได้โอกาสเป็นผู้บริหารใหม่ มีเงินเดือนสูงกว่าเดิม  สิ่งที่คิดตอนนั้นว่า  การได้รับค่าตอบแทนที่สูงขึ้น  เราต้องทำงานหนักขึ้น  รับผิดชอบมากขึ้นกว่าคนที่มีเงินเดือนน้อยกว่าเรา   ให้สมกับที่องค์กรเขาจ่ายค่าจ้างเรามา  คิดแบบนั้นจริงๆ ไม่ได้ดราม่า   แต่พออยู่ไปสักพัก  ก็เห็นว่า ผู้บริหารส่วนใหญ่  ยิ่งมีตำแหน่งที่สูงขึ้นก็ยิ่งใช้มือทำงานน้อยลง ใช้สมองและปากทำงานมากขึ้น พูดเก่ง  เอาแต่สั่ง มอบหมายงาน แต่ไม่ค่อยจะรู้เนื้องาน รู้เพียงภาพกว้าง พอเจาะรายละเอียดแทบไม่รู้เลย แต่ทำตัวลอยๆให้เหมือนว่าเก่งงาน เก่งคน  ผลงานที่เกิดขึ้นต้องอาศัยลูกน้องทำงานให้   สังเกตุง่ายๆคือ  เวลามีประชุมบริษัท มักจะขนลูกน้องเป็นโขยง เรียกว่ายกทั้งแผนกมาเข้าประชุมด้วย  เวลาถูกสอบถามถึงเนื้องาน  จะโยนให้ลูกน้องตอบ  แล้วพูดด้นสดหน้างานเหมือนทำเอง  ถึงทีตัวเองนำเสนองาน  ต้องมีลูกน้องคลิ๊กเปลี่ยนหน้าจอให้   มีลูกน้องคอยอำนวยความสะดวกซ้ายขวา มีลูกน้องคอยแจกเอกสาร ซึ่งจัดทำให้  จะใช้คนสิ้นเปลืองมาก    ซึ่งต่างจากผู้บริหารที่มีประสิทธิภาพ จะถือโน๊ตบุ๊ค หรือไอแพคตัวเดียวเข้าประชุม มีลูกน้องติดตามไม่กี่คน หรือไม่มีเลย  ที่ประชุมถามอะไร ก็ตอบเองได้  เพราะรู้งาน รู้สถานะงาน  คอยควบคุมติดตามงานอยู่เสมอ     เคยคิดว่า บางทีองค์กรอาจไม่จำเป็นต้องสิ้นเปลืองว่าจ้างผู้บริหารบางคนก็ได้ สำหรับบางงาน    เพราะถึงไม่มีผู้บริหาร  มีแค่ระดับพนักงานก็ทำแทนได้   ไม่ต้องจำเป็นต้องมี Hierarchical Structure ที่หลายชั้น  สมัยก่อนใครเคยเป็นผู้จัดการบริหารโครงการ ต้องเคยใช้โปรแกรม Project Management  เพื่อคำนวณต้นทุนคนที่ใช้ในโครงการ  จะทำให้ทราบต้นทุนจัดการเรื่องคน  ใช้สำหรับประเมินและควบคุมค่าใช้จ่ายในโครงการ  น่าจะนำมาปรับใช้กับผู้บริหารเหล่านี้ น่าจะดี    จำตอนที่เคยทำงานในบริษัทพัฒนาระบบ ต้องอยู่ในระบบที่กำหนดให้พนักงานต้องคีย์ทุกกิจกรรมที่เกิดขึ้นประจำวัน ลงในระบบ(Timesheet)ของบริษัท   เพื่อให้รู้ว่าวันหนึ่งๆเราใช้เวลาไปกับการทำงานในเรื่องอะไรมาก น้อย เพื่อประมวลผลข้อมูล  ส่งเป็นรายงานให้กับผู้บริหารระดับสูงกว่าได้รู้ว่า  สถานะงานมีต้นทุน มีการใช้ค่าใช้จ่ายเรื่องคนไปมากน้อยเท่าไหร่  อยากบอกว่าแรกๆ เครียดมาก   เหมือนว่าทุกเวลาที่ผ่านไปต้องมีงานทำ  นั่งคุยกับเพื่อนนานไม่ได้  ออกไปซื้อกาแฟ  หรือไปทำธุระส่วนตัวแทบไม่ได้เลย  ถ้ามีความจำเป็นที่ต้องทำเรื่องนอกเหนือจากภาระงาน  บางครั้งต้องคีย์หลอกๆกันไปให้ออกมาดูดี เช่น meeting, miscellaneous...  เพื่อไม่ให้ไปเสียเวลากับโครงการมากไปซึ่งมีผลต่อต้นทุน   ตอนนั้นก็มีข้อสงสัยว่า ทำไมบริษัทไม่กำหนดให้ระดับผู้บริหารต้องคีย์ลงกิจกรรมเช่นเดียวกันกับพนักงานบ้าง  จะได้รู้ถึงต้นทุนที่แท้จริง ซึ่งกลุ่มผู้บริหารที่บริษัทจ้างมาทำงาน มีสัดส่วนต้นทุนมากกว่าพนักงานอย่างมาก   แต่ยังไงก็ตาม มันก็หล่อหลอมให้เรามีวินัยการทำงานที่เป็นระบบ   พอย้ายมาทำงานอีกบริษัท ที่ไม่ต้องลงข้อมูลทำงาน ไม่ต้องเช็คเวลามา เวลากลับ  มีเพียงผู้บังคับบัญชาที่สูงกว่าควบคุม ก็ทำให้เบาตัวทำงานได้อย่างสบาย  แต่ปัญหาที่เคยสงสัยก็เหมือนเดิมคือ องค์กรจะไม่รู้ต้นทุนแท้จริงของผู้บริหารที่จ้างมา กับผลตอบแทนที่องค์กรได้รับ  เมื่อไม่สามารถวัดผลออกมาเป็นตัวเลขได้  การประเมินผลงานของผู้บริหารจึงไม่สามารถวัดผลได้อย่างมีประสิทธิภาพ  คงใช้แต่ความรู้สึกของความสัมพันธ์ระหว่างหัวนายและลูกน้องในการประเมินผลงาน   นั่นคือ การเจริญเติบโตในสายอาชีพ ขึ้นอยู่กับว่า เราเป็นคนของใคร  ผลของการทำงานงานขึ้นอยู่ว่า ทำให้นายถูกใจหรือไม่?  โดยมีระบบประเมินผลที่ใช้ความรู้สึกประเมินมากกว่า ตัวเลขที่สะท้อนความเป็นจริงออกมา     
             สำนวนเก่าๆอีกสำนวน คือ "penny- wise ,pound- foolish"  เสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่าย  หมายถึงมัวแต่ไปพะวงและระวังแต่เรื่องเงินเล็กๆน้อยๆ แต่ไม่ระมัดระวังตัวกับเรื่องเงินก้อนใหญ่   เช่นอนุมัติเงินซื้อรถยนต์ประจำตำแหน่งของผู้บริหารในราคาสูงได้อย่างง่ายดาย หรือพาลูกค้าไปเลี้ยงรับรองโรงแรมหรู จ่ายเต็มที่ อ้างว่าเพื่อประโยชน์ทางธุรกิจ  หรือ ให้เงินก้อนใหญ่จัดงานแข่งขันเกมส์ เพื่อเอาใจเจ้าของบริษัทที่คลั่งไคล้  หรือจัดทริปพาผู้บริหารระดับสูงไปดูงาน(เที่ยว)ต่างประเทศ ......  แต่เวลาพนักงานขอมุงหลังคาจอดรถมอเตอร์ไซค์   ขอโต๊ะทำงานสักตัวเพื่อรับใบส่งของที่หน้าคลัง   ขอเงินสนับสนุนเลี้ยงพนักงานในวันปีใหม่  ขอไปอบรมหลักสูตรที่นอกเหนือจากกำหนดไว้  .....  กว่าจะขอได้ พิจารณาหลายขั้นตอน  ต้องผ่านการพิจารณาแล้วพิจารณาอีก ต้องไปดูงบประมาณว่ามีตั้งไว้ไหม๊  จนแทบเลิกขอกันไป  ......   

 

พ่อหมูตู้  


บทความที่เกี่ยวข้อง
กบต้ม
บนโลกที่เต็มไปด้วยการเปลี่ยนแปลง ซึ่งหลีกหนีไม่พ้น การรู้ทัน และปรับตัว เป็นทางเลือกในการเอาตัวรอด
28 เม.ย. 2025
แบกลิงกอริลลา โดยไม่รู้ตัว ?
แนวคิดเรื่องการบริการจัดการงานกับทรัพยากรที่มีอยู่
14 เม.ย. 2025
คงจะมีสักวันที่สมหวัง
ลงมือทำเท่าที่ได้ก่อน คงจะมีสักที่สมหวัง
13 เม.ย. 2025
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy