กบต้ม
ตั้งแต่ Charles Darwin ได้ออกหนังสือ "The origin of species" เมื่อ ค.ศ. 1859 โดยนำเสนอทฤษฎี "Natural Selection" สิ่งมีชีวิตที่ปรับตัวให้เข้าสภาพแวดล้อม ณ เวลานั้นจะอยู่รอดและสืบเผ่าพันธุ์ต่อไป ในทางกลับกัน ถ้าหากสิ่งมีชีวิตนั้นๆ ปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมไม่ได้ก็จะสูญพันธุ์ไปในที่สุด นั่นก็เป็นจุดที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์ชาวไอริชที่ชื่อ Tichyand Sherman (1993) ได้ทำการทดลองเกี่ยวกับการปรับตัวของสัตว์ที่โด่งดังเรียกว่า "ทฤษฏีกบต้ม" ต่อมากลายมาเป็นเรื่องเล่าเชิงเปรียบเทียบกับการรับมือกับการเปลี่ยนแปลง เรื่องมีอยู่ว่าถ้านำกบไปต้มในหม้อที่ใส่น้ำไว้ ค่อยๆเพิ่มอุณหภูมิให้สูงขึ้น กบจะไม่กระโดดหนี รู้ตัวอีกทีก็ตอนหนีไม่ทันแล้ว พอน้ำเดือดมันก็จะกลายเป็นกบต้มสุกไปเรียบร้อย มันก็แค่เป็นเรื่องเล่า ในความเป็นจริงมีคนลองพิสูจน์กันแล้ว ก็รู้กันว่ากับมันจะกระโดดหนี ตั้งแต่รู้ว่าน้ำร้อนแล้ว ไม่มีทางเลยที่กบจะอยู่รอให้น้ำเดือดจนตัวตายโดยไม่รู้ตัวหรอก มีผู้รู้หลายคนเขียนเรื่องกบต้มไว้ หาอ่านได้ตามบทความออนไลน์ แต่ผมจะเล่าตามมุมมองของผมเอง เรื่องของการเปลี่ยนแปลงที่ถูกพูดถึงเมื่อเกือบสิบปีที่ผ่านมา มีการพูดถึง case study บริษัท Kodak ที่ขายฟิล์มถ่ายรูปซึ่งใช้ใส่ในกล้องในยุคนั้น เพื่อเป็นตัวรับภาพในกล้องถ่ายรูป ที่มักเรียกกันว่า"กล้องฟิล์ม" เมื่อกล้องรับแสงเข้ามาตกกระทบบนเยื่อไวแสงที่ฉาบไว้บนฟิล์ม (Silver halide) ก็จะเกิดภาพแฝงขึ้นเรียกว่า "latent image" ซึ่งเป็นภาพที่ตามองไม่เห็น ต่อเมื่อนำฟิล์มไปผ่านกระบวนการล้างน้ำยาเคมีแล้ว จึงสามารถมองเห็นภาพได้ จำได้ว่าตอนนั้น เวลาถ่ายรูปลงม้วนฟิล์ม ต้องเอาไปล้างรูปแถวโรงแรมเอเชีย กว่าจะได้เห็นรูป ใช้เวลาเกือบสัปดาห์ และตอนไปรับรูปต้องมีลุ้นว่าภาพจะออกมาดีไหม๊ การถ่ายรูปในแต่ละภาพจึงต้องระมัดระวังในการถ่ายแต่ละครั้ง พลาดแล้วพลาดเลย กว่าจะได้แต่ละภาพ รู้สึกแต่ละภาพมีค่ายิ่งนัก และเมื่อเทคโนโลยี่เข้ามาเปลี่ยนวงการถ่ายรูปอย่างรวดเร็ว ช่วงนั้น บริษัท Kodak แทบปรับตัวไม่ทัน การเปลี่ยนแปลงอันรวดเร็วจากการถ่ายภาพด้วยกล้องฟิล์ม มาเป็นกล้อง Digital ซึ่งมีระบบที่ดีกว่า มี Function ที่ง่ายกว่า ประหยัดกว่า จะถ่ายกี่รูปก็ได้เท่าที่มีพื้นที่เก็บข้อมูล เช็คภาพที่ถ่ายได้เลย ไม่ต้องรอล้าง ถ่ายไม่ดีก็ลบทิ้งไป เชื่อมต่อ printer พิมพ์เองได้เลย ...... กล้องฟิล์มจึงถูกกดดันให้เลิกเล่นไปในยุคนั้น มีเพียงบางกลุ่มที่ยังใช้กัน ตามความพอใจ ช่วงนั้นบริษัทในเมืองไทยจะพูดถึง Disruptive Technology คือ เทคโนโลยีหรือนวัตกรรมที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงภาคธุรกิจและพฤติกรรมของผู้บริโภคอย่างรวดเร็วและรุนแรง และภาคธุรกิจต้องปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้น จนมีคำพูดว่า"แต่ก่อนปลาใหญ่กินปลาเล็ก ตอนนี้ปลาไวกินปลาช้า" และพูดกันแต่เรื่องนวัตกรรม โดยกดดัน เร่งให้ทุกคนต้องปรับตัว จนมีคำพูดว่า "ถ้าไม่ปรับก็ต้องตาย...do or die" ทำราวกับว่าเอาพนักงานมาเรียนรู้ความหมายของ "นวัตกรรม (innovation)" ซึ่งในตอนนั้นเป็นคำใหม่ ชอบพูดเท่ห์ๆกัน ราวกับว่าเมื่อให้ความรู้พนักงานไปแล้ว เดินออกมาจากห้องอบรม แล้ว start ได้เลย เหมือนส่งคนไปเรียนเรื่อง creativity แล้วคาดหวังว่า สมองจะสามารถคิดสร้างสรรค์ได้เลย บางบริษัทจัดประกวดรางวัลเพื่ออยากให้คนในองค์กรมีความคิดและสร้างนวัตกรรมให้กับองค์กร ทุกคนตื่นตัวกับเรื่องนี้ เพราะถูกบังคับให้ทำเป็นตัวชี้วัด(KPIs) ของหน่วยงาน ต่างเขียนโครงงานนวัตกรรมด้วยความเข้าใจนิยามเรื่อง"นวัตกรรม" ที่ต่างกัน เช่น เป็นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆที่ไม่เคยมีมาก่อน ,เป็นการพัฒนาดัดแปลงจากของเดิมที่มีอยู่แล้วให้ทันสมัย ,เป็นการใช้ความคิดสร้างสรรค์เพื่อพัฒนาหรือประดิษฐ์สิ่งใหม่ๆ .......เอาเป็นว่า จะนิยามอย่างไร หากสิ่งใหม่ที่ทำขึ้น ไม่สามารถนำไปใช้ได้จริง หรือขายไม่ได้ ผมว่าไม่ใช้เรื่องนวัตกรรม ต้องมีเรื่อง commercial ด้วย และที่สำคัญคือ นวัตกรรมต้องสามารถวัดได้เป็นตัวเลขที่ชัดเจน ไม่เหมือนความพึงพอใจที่วัดจากความรู้สึก ที่ทำกันและเข้าใจกันว่าเป็นนวัตกรรม ส่วนใหญ่มักจะเป็นเรื่อง Process improvement ภายในองค์กรซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องทำกันโดยปกติ โดยหัวหน้างานที่มีความคิดก้าวหน้า ต้องมีความคิดในการพัฒนาการทำงานให้ดีขึ้น ลดปัญหา เพิ่มประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำกันอยู่แล้ว ไม่ใช่พึ่งจะลงมือ ตัวอย่างเช่น ในกระบวนการผลิต พบว่ามีปัญหาเรื่องการตอกไข่จำนวนมาก เพื่อใช้เป็นส่วนผสมในการทำขนม จึงขอไปดูงานจากโรงงานที่เป็น Best practice แล้วกลับมาซื้อเครื่องตอกไข่มาใช้ในโรงงาน หรือการซื้อสายพานลำเลียงมาใช้เคลื่อนย้ายสินค้าจากอีกจุดหนึ่งมายังจุดหนึ่งแทนใช้แรงงานคน หรือ เขียนสเปค(user requirement)ให้โปรแกรมเมอร์ของบริษัท เขียนโปรแกรมติดตาม monitor ควบคุมงานประจำวัน หรือ จัดซื้อระบบ GPS ติดตั้งให้ของรถส่งสินค้า ....... แล้วเขาก็เรียกมันว่า "นวัตกรรม" เคยถามเขาว่าทำไมเรียกว่า "นวัตกรรม" เขาบอกว่า ก็เป็นเรื่องใหม่ๆที่เกิดขึ้น ไม่เคยมี ไม่เคยทำมากก่อน และส่งเข้าประกวดงานนวัตกรรมของบริษัทแล้ว ผมได้แต่ยิ้มและตามน้ำไป คิดว่า ก็ยังดีกว่าไม่คิดจะพัฒนาปรับปรุงอะไร
ในโลกปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงสูง มีสิ่งใหม่ๆ มีเทคโนโลยีใหม่ๆ มีปัญหาใหม่ๆ มีความท้าทายใหม่ๆเข้ามาในชีวิต กดดันให้ภาคธุรกิจ และผู้เกี่ยวข้อง ต่างต้องรู้ทันการเปลี่ยนแปลง เพื่อปรับตัว ปรับบุคคลากรในองค์กรให้เตรียมพร้อมให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่มากระทบอย่างรวดเร็ว ไม่งั้นจะกลายเป็น กบต้ม กว่าจะรู้ ภัยก็เข้ามาถึงตัว กระโดดหนีไม่ทัน ส่วนประชาชนทั่วไปอย่างผม และอีกหลายคน สิ่งที่ควรทำคือ ต้องรับรู้ข่าวสาร และวิเคราะห์เองว่า มีเรื่องราวอะไรบ้างที่เกิดขึ้นและกระทบต่อการใช้ชีวิตของตัวเอง เตรียมใจยอมรับการเปลี่ยนแปลง เพื่อปรับตัวให้ดำรงอยู่ได้ เช่น ล่าสุด การประกาศนโยบายภาษีของสหรัฐ ส่งผลกระทบต่อทั่วโลก ไม่ว่าจะเกิดค่าเงินบาทอ่อนลง , การส่งออกลดลง , การทะลักของสินค้าจีนจะเข้ามาตีตลาดสินค้าไทย, การผลิตบางกลุ่มลดลง ซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อผู้ส่งออก นักลงทุน ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง ในฐานะที่เป็นคนธรรมดา ไม่สามารถไปจัดการอะไรได้ ปล่อยให้ผู้เกี่ยวข้องจัดการกันไป แต่เราต้องรู้ว่า จะอยู่อย่างไร และจะได้เจออะไรในอนาคต ควรต้องเปิดใจ พร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลง อย่าอยู่แบบเคยชินกับสภาพปัจจุบันจนไม่ปรับตัว
"ภัยที่มาแบบเงียบๆ แบบไม่รู้ตัว เป็นภัยที่อันตรายที่สุด"
พ่อหมูตู้