สงกรานต์ที่เปลี่ยนแปลงไป
เค้าว่า วันสงกรานต์ เป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทยในสมัยก่อน ถือเป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ โดยมีเรื่องเล่าโบราณว่า ท้าวกบิลพรหมซึ่งเป็นเทพชั้นพรหมแพ้พนัน ธรรมบาลกุมาร เด็กอายุ ๗ ขวบ ที่เรียนจบพระคัมภีร์ไตรเพท ด้วยปัญหา ๓ ข้อ คือ ในเวลาเช้า เวลาเที่ยง และเวลาค่ำ มนุษย์นั้นมีราศีอยู่ที่ใดบ้าง จึงต้องตัดเศียรตัวเองบูชาธรรมบาลกุมารตามสัญญาที่ตกลงกัน แต่เศียรของท้าวกบิลพรหมนี้ร้อนแรง หากวางบนแผ่นดินจะเกิดไฟไหม้โลก ถ้าโยนขึ้นบนอากาศฝนจะแล้ง หากทิ้งลงในมหาสมุทรน้ำจะแห้ง จึงมอบหน้าที่ให้ธิดาทั้ง ๗ นาง (ทุงษะเทวี,โคราคะเทวี,รากษสเทวี,มณฑาเทวี,กิริณีเทวี,กิมิทาเทวี และ มโหธรเทวี) ผลัดเปลี่ยนกันอัญเชิญเศียรท้าวกบิลพรหมเวียนประทักษิณรอบเขาพระสุเมรุ แล้วประดิษฐานไว้ในถ้ำคันธุลี ในเขาไกรลาศ นอกจากนี้ ตามตำนานยังมีความเชื่อว่าหากในปีใดนางสงกรานต์ยืนมา จะเกิดความเดือดร้อนเจ็บไข้ ถ้านางสงกรานต์นั่งมา จะเกิดความเจ็บไข้ ผู้คนล้มตายและเกิดเหตุเภทภัยต่าง ๆ หากนางสงกรานต์นอนลืมตา ประชาชนจะอยู่เย็นเป็นสุข และถ้าในปีใดนางสงกรานต์นอนหลับตา พระมหากษัตริย์จะเจริญรุ่งเรืองดี
จากตำนานที่เล่ามา ท่านเชื่อเรื่องว่าทุกปีในวันสงกรานต์ ต้องให้นางสงกรานต์ผลัดเปลี่ยนกันนำหัวของท้าวกบิลพรมเวียนรอบเขาพระสุเมรุ ไหม๊ แล้วเขาพระสุเมรุ และเขาไกรลาศ อยู่ตรงไหน? ก็เป็นแค่นิทานในสมัยโบราณ ซึ่งถูกเชื่อมโยงมาเป็นประเพณีสงกรานต์ที่เราเป็นอยู่ในปัจจุบัน แล้วที่เล่นน้ำ สาดกัน รดน้ำ ดำหัว ที่ทำกันในปัจจุบัน สืบสานมาจากไหนล่ะ
เนื่องจาก วันสงกรานต์สมัยก่อนตรงกับช่วงหลังฤดูกาลเก็บเกี่ยวพืชพันธุ์ธัญญาหาร และเป็นเดือนที่มีอากาศร้อน คนสมัยโบราณจึงคิดกุศโลบายที่อยากให้เกิดความชุ่มชื่นรับหน้าร้อน ให้มีกิจกรรมเพื่อเป็นการพักผ่อนหลังจากทำงาน และเปิดโอกาสให้หนุ่มสาวได้พบกันและเล่นสาดน้ำกัน เพื่อคลายความร้อน รวมทั้งการใช้น้ำเป็นองค์ประกอบหลักให้การสรงน้ำพระให้นำความสิริมงคลมาให้แก่ตน และมีการรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ เพื่อรำลึกและแสดงกตัญญูต่อบรรพบุรุษ รวมถึงใครที่มีโอกาสได้ไปทำบุญที่วัด ก็จะร่วมก่อเจดีย์ทรายด้วย ซึ่งไม่ได้เกี่ยวกับตำนานโบราณแต่อย่างใด ต่อมาในแต่ละภูมิภาคจะมีรูปแบบ พิธีกรรม จารีต ความเชื่อ เอกลักษณ์ และการจัดกิจกรรมที่แตกต่างกันไป ตามคติความเชื่อและการดำเนินชีวิต แต่กิจกรรมหลัก คือการทำบุญถวายภัตตาหารแก่พระภิกษุสงฆ์ การอุทิศส่วนกุศลให้ญาติที่ล่วงลับไปแล้ว การรดน้ำดำหัวขอพรผู้อาวุโส การสรงน้ำพระ การก่อพระเจดีย์ทราย การเล่นน้ำ การละเล่นพื้นบ้าน การแสดงมหรสพ และการทำกิจกรรมร่วมกัน เพื่อสร้างความรื่นเริงและความสามัคคีกันในครอบครัวและในชุมชน ซึ่งแต่ละภูมิภาคมีความแตกต่างกัน จนมาถึงยุคปัจจุบัน ดูเหมือนว่า วันสงกรานต์คือวันหยุดยาวในปฏิทินประจำปี พอกับวันปีใหม่ ซึ่งนับรวมแล้ว ประเทศไทยน่าจะมีวันปีใหม่ไทยที่ยาวที่สุด เพียงเว้นระยะสองเดือนกว่าเท่านั้น นั่นคือเป็นช่วงที่ใครที่มีภูมิลำเนา หรือมีครอบครัวอยู่ต่างจังหวัด โดยเฉพาะผู้ใช้แรงงาน ต้องพากันเดินทางกลับบ้านไปหาครอบครัว เรียกได้ว่าเป็น "ประเพณีกลับบ้าน" หรือ "วันครอบครัวเจอหน้ากัน" วัตถุประสงค์หลักคือ ได้กลับบ้าน ส่วนคนเมืองกรุง ไม่เล่นน้ำ สรงพระ ก็หาเรื่องพาตัวเองและครอบครัวไปเที่ยว ใครมีฐานะก็วางแผนเดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศ คนไทยชอบสนุกสนาน ฉลองกันได้ทุกเทศกาล ทุกคนถูกครอบความคิดตั้งแต่วัยเด็ก ซึ่งก็แล้วแต่ว่าจะเลี้ยงดูมาอย่างไร ให้ความสำคัญกับวันสงกรานต์อย่างไร บางคนคิดว่าเป็นวันที่ทุกคนสนุกสนานด้วยการเล่นน้ำ ปะแป้ง ออกมาเปิดเพลง เต้นกัน สนุกสนาน สาดกัน ขับรถตระเวนเล่นน้ำ บางคนพ่อแม่พาไปกราบไหว้ขอพรจากผู้ใหญ่ บางบ้านเป็นวันที่ต้องนำพระบูชาประจำบ้าน หรืออัฐิบรรพบุรุษ มาสรงน้ำ พรมน้ำหอม ทำความสะอาด บางคนเข้าวัด ทำบุญ ร่วมกิจกรรม และก็มีบางคนที่กลัวเปียก ไม่กล้าออกจากบ้าน การใช้ชีวิตของแต่ละคนในช่วงวันสงกรานต์ จึงแตกต่างกันไป แต่ที่เห็นสม่ำเสมอคือ ร้านเหล้า ร้านนั่งดื่ม ก็เต็มไปด้วยนักดื่ม ไปเล่นน้ำในผับ ในบาร์กันแล้ว และก็มีส่วนใหญ่เดินเล่นน้ำ ตามสถานที่จัดงานที่มีกระจายไปทั่ว
ในวันสงกรานต์ก็เป็นพิธีกรรมหนึ่ง ที่คนในที่ทำงานแสดงความกตัญญู (ประจบสอพลอ) ต่อผู้บังคับบัญชาที่มีผลต่อการใช้คุณให้โทษกับหน้าที่การงาน บางคนเตรียมทั้งพวงมาลัยช่อใหญ่ ขันใส่น้ำอบ น้ำหอม โรยมะลิ มาขอรดน้ำขอพรกับหัวหน้า (ไม่แน่ใจว่า พวกเขาได้ทำกับบุพการีแบบนี้ไหม๊) บางคนมารดน้ำ แล้วดันมาพูดให้พรผู้ใหญ่อีก ก็ งง (มารับ หรือมาให้) และเชื่อว่า เมื่อพวกเขาไม่ได้เป็นเจ้านาย ลูกน้องกันแล้ว จะยังคงปฏิบัติต่อกันอีกไหม๊ ผมเชื่อจากประสบการณ์จริงว่า ไม่ต้องรอถึงวันสงกรานต์หรอก พวกนี้มันหนีหายหัวไปตั้งแต่ไม่มีอำนาจ ไม่มีผลประโยชน์ให้มันแล้ว มันเป็นความจริงที่ทุกคนในสังคมนี้ ล้วนปฏิบัติต่อกันเพราะผลประโยชน์ ซึ่งก็เป็นกันทุกอาชีพ เราแค่เข้าใจและยอมรับ อย่าไปยึดติดกับความสำเร็จในอดีต ปล่อยให้เวลาพาพวกเขาหายไปจากชีวิตกันและกัน
แต่ก่อนผมเคยมีข้อสงสัยว่า ทำไมอู่ซ่อมรถ ร้านขายอะไหล่ ร้านขายอุปกรณ์ หรือร้านให้บริการ แถวบ้าน ชอบปิดวันอาทิตย์ ทำไมไม่ปิดวันธรรมดา แล้วเปิดวันอาทิตย์ ไม่รู้เหรอว่าคนทำงานประจำ เขาหยุดเสาร์ อาทิตย์ เขามีเวลาในช่วงวันหยุดในการซ่อมแซมอะไรต่างๆ ไม่สะดวกในวันธรรมดา ที่ต้องลางานมาทำ พอได้คุยเจ้าของกิจการมาหลายคน จึงทำให้รู้ว่า เขาปิดวันอาทิตย์เพราะ คนในครอบครัวเขาส่วนใหญ่จะหยุดเสาร์อาทิตย์ จึงเลือกสักวัน เพื่อทำหน้าที่ดูแลและอยู่ด้วยกับครอบครัว ที่ตลอดหนึ่งสัปดาห์อาจไม่ได้อยู่ด้วยกันเลย เช่นเดียวกัน ทำไมพ่อค้าแม่ค้าจึงชอบปิดร้านหยุดยาวในช่วงสงกรานต์ ทิ้งโอกาสในการทำรายได้ เพราะมีร้านหยุดเยอะ น่าจะไปหยุดในวันอื่นๆที่ไม่ใช่เทศกาล คำตอบที่ได้ก็คงเป็นเพราะเหตุผลเดียวกันจากที่กล่าวมา
สิ่งที่เห็นชัดว่าที่เปลี่ยนไปจากเดิมคือ พฤติกรรมการแต่งตัว ผู้หญิงชอบนุ่งสั้น โชว์นม ใส่บางๆ อวดเรือนร่าง โชว์เต้น ส่วนผู้ชายบางคน ถอดเสื้อ โชว์ลายสัก ตั้งป้อม กินเหล้าเมากัน เปิดเพลงเสียงดัง เหมือนทุกคนรู้กันว่า เป็นวันที่ทุกคนมีอิสระในการแสดงออก เป็นค่านิยมที่ทำต่อกันมานาน มันถูกแล้วหรือ? ทั้งที่ประเพณีสงกรานต์ไทยในสมัยก่อนเขาแต่งตัวสวยงาม เรียบร้อย จะรดน้ำกัน ต้องขอก่อนและค่อยๆรดน้ำตามไหล่ ตามบ่า ตามมือ ไม่แต๊ะอั๋งกัน หรือเด็กวัยรุ่นเล่นสาดน้ำกัน ไม่ได้ต้องถอดเสื้อผ้า หรือใส่น้อยชิ้น หลายคนเข้าวัด ก่อเจดีย์ทราย ยังเห็นว่าเป็นประเพณีที่สวยงาม อดคิดถึงตอนที่ไป สปป.ลาวเมื่อหลายปี เวลามีเทศกาล คนลาวทั้งหมู่บ้านจะแต่งตัวสวยงาม ผู้หญิงจะใส่ผ้าทอ ผ้าซิ่น ใส่รองเท้าส้นเตี้ย เรียบร้อย ส่วนผู้ชายจะใส่เสื้อผ้าทอ กางเกงสแล็ค รองเท้าหนัง เหมือนนัดกันทุกบ้าน และจะมาทำกิจกรรมทำบุญที่วัดประจำหมู่บ้าน เห็นแล้ว รู้สึกดี ผู้คนถูกสอนให้ปฏิบัติตามวิถีท้องถิ่นในแบบที่ดีงาม และสืบทอดมาอย่างเข้มแข็ง ให้คนได้เห็นคุณค่าในวัฒนธรรมที่แตกต่าง สังคมเราอาจเสพวัฒนธรรมของประเทศอื่นมากไป และทำตาม จนลืมรากเหง้าของความเป็นไทย วันสงกรานต์จึงเปลี่ยนไปจากเดิม เป็นเพียงเทศกาลเล่นน้ำ(Festival) ที่เน้นความรื่นเริง สนุกสนาน เพื่อการท่องเที่ยว และธุรกิจ มากกว่าจะรักษารูปแบบเดิมไว้ ผมอาจจะมองจากมุมมองที่ลบ และเชื่อว่ายังคงมีสิ่งดีงามที่เกิดในมุมที่ผมมองไม่เห็น เพราะโลกของผมเล็กไป และยึดติดกับสิ่งที่เคยเป็นในอดีตมากไป
ผมมักจะถามเด็กเล็กและผู้ใหญ่บางคน เวลามีวันหยุดประจำปี ได้แก่ วันวิสาขบูชา วันมาฆบูชา วันอาสาฬหบูชา วันออกพรรษา วันสงกรานต์ วันลอยกระทง วันพืชมงคล ...คือวันอะไร มีความสำคัญอย่างไร เชื่อไหม๊ หลายคนรู้แต่ว่าเป็นวันหยุด ไม่รู้ความหมายที่แท้จริง ทำให้ได้เห็นถึงวิถีชีวิตที่ดำรงอยู่บนความไม่รู้ ตามสำนวน "อยู่แบบไทยๆ" ทดลองง่ายๆ ลองหันไปถามเด็กที่บ้านของท่านสักคนสิ ว่า "รู้ไหม๊วันวิสาขบูชา คือวันอะไร"
พ่อหมูตู้